“ธรรมะคือสิ่งประเสริฐ ธรรมะทำให้คนเป็นสุขได้

ครูบาอยากให้ทุกคนได้เข้าถึงธรรมะ ได้เป็นสุขทั่วกัน

แล้วจะรู้ว่าสุขนั้นไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจเรานี่เอง”

พระภาวนารัตนญาณ หรือ ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต (เจ้าอาวาสวัดแสงแก้วโพธิญาณ)

ประวัติครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต

พระภาวนารัตนญาณ หรือ ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต เจ้าอาวาสวัดแสงแก้วโพธิญาณ เกิดเมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. 2524 ที่บ้านปิงน้อย อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่มีชื่อเดิมว่า สุชาติ อุ่นต๊ะ หรือ “เก่ง” เป็นบุตร

ของโยมพ่อสุขและโยมแม่จำนงค์ อุ่นต๊ะ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 3 คน คือ นายนิเวศน์ อุ่นต๊ะ นายนิรันดร์ อุ่นต๊ะ และครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต

โยมแม่จำนงค์ อุ่นต๊ะ เล่าว่า ในวันที่บุตรคนสุดท้องของนางถือกำเนิดนั้น ทารกน้อยมีลักษณะที่ “งาม” ยิ่ง… ผิวพรรณผุดผ่อง ตาโต ใบหูยาวใหญ่ นิ้วมือนิ้วเท้าเรียวยาว…ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเฒ่าคนแก่กล่าวกันว่า นี่คือ “มงคลลักษณ์” อันบ่งบอกถึงความเป็น “ผู้มีบุญ” ไม่ผิดแน่แล้ว

ในช่วงเวลานั้น นายสุขและนางจำนงค์ อุ่นต๊ะ ยังชีพอยู่โดยยึดอาชีพทำไร่ทำสวนสืบทอด จากบรรพบุรุษเฉกเช่นเดียวกับชาวบ้านปิงน้อยส่วนใหญ่ และครอบครัวนี้ซึ่งประกอบด้วยพ่อ แม่และลูกชายอีกสามคน ก็มีฐานะค่อนข้างยากจน

“เด็กชายเก่ง” เป็นเด็กเลี้ยงง่าย ไม่งอแง เอาแต่ใจ ยิ่งเมื่อเติบโตก็ยิ่งว่านอนสอนง่าย แม้จะเป็นน้องคนเล็กแต่ก็มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และขยันขันแข็งตั้งแต่ยังเล็ก นอกจากจะขยัน อ่านเขียน หมั่นศึกษาหาความรู้ตามวัยแล้ว ยังตื่นแต่เช้ามืดมาช่วยเหลืองานทั้งในบ้านและงานไร่ งานสวนเคียงบ่าเคียงไหล่บิดามารดาและพี่ชายทั้งสองอย่างไม่เกี่ยงงอน

ที่สำคัญ แม้จะยังเป็นเด็กชายตัวน้อย แต่ทั้งแววตาการแสดงออกต่างๆ ของ “เด็กชายเก่ง” ก็บ่งชี้ถึงความเฉลียวฉลาด ใฝ่ใจในคุณงามความดี และเปี่ยมไปด้วยน้ำใจเมตตาอย่างเห็นได้ชัด

ความ “งาม” ทั้งรูปลักษณ์ กิริยา และจรรยาของผู้เป็นบุตรคนสุดท้อง ทำให้นางจำนงค์หวนนึกถึงความงฝันประหลาดซึ่งเกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง 2 ครา ก่อนจะตั้งท้องลูกคนนี้ ซึ่งเวลานั้นหัวใจของนางก็อาบอิ่มด้วยความปลาบปลื้ม ภูมิใจ และเปี่ยมด้วยความหวัง “ ลูกเอ๋ย … เจ้าผ้าขาวผ้างามของแม่ เจ้าจงเติบโตขึ้น ได้เป็น เจ้าคนนายคน ให้พ่อแม่ได้พึ่งพาเต๊อะลูกแม่ ”

            “ ครั้งแรก … แม่ฝันว่าได้ผ้าผืนใหญ่ เป็นผ้าสีขาวนวล แม่เห็นปุ๊บแม่ก็มักเลย เพราะผ้าผืนนั้นมันขาวนวลสะอาด บ่มีฮอยเปื้อนหยังเลย มันงามนัก

            ครั้งที่สอง … แม่ฝันว่าผลักประตูเข้าไปในห้องนอนเห็นแต่สีเหลืองทองเต็มห้องไปหมด ” แม่จำนงค์ อุ่นต๊ะ โยมมารดาของครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต

การศึกษาทางโลก ของ ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต

เด็กชายเก่ง เริ่มเข้าเรียนในระดับประถมศึกษา ที่โรงเรียนวันชนะ ตำบลประตูป่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นโรงเรียนใกล้บ้าน (บ้านปิงน้อยมีอาณานิคมติดกับจังหวัดลำพูนเพียงชั่วสะพานกั้น จึงสามารถไปมาระหว่างกันได้สะดวก)

            ด้วยความขยันหมั่นเพียร เอาใจใส่ในการศึกษา ประกอบกับสติปัญญาที่เฉลียวฉลากเป็นเลิศ ทำให้เด็กชายเก่งสอบได้เป็นที่ 1 ของชั้นมาโดยตลอด  แม้กระทั่งเมื่อเรียนจบชั้น ป.6 และเข้าเรียนต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสารภีพิทยาคม ผลการเรียนของเด็กชายเก่งก็ยังคงโดนเด่นอยู่ในระดับดีมากมาโดยตลอด นอกจากนี้ ความเป็นผู้มีน้ำใจโอบอ้อมอารีต่อผู้อื่นอยู่เสมออันเป็นอันเป็นอุปนิสัยส่วนตัว ก็ทำให้เด็กชายเก่งเป็นที่รักของครูและเพื่อนๆ เสมอมา

เมื่อจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) แล้ว “สุชาติ” หรือ “เก่ง’ ซึ่งย่างเข้าสู่วัยรุ่นก็เข้าศึกษาต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนสารภีพิทยาคมเช่นเคย แม้จะนึกค้านอยู่ในใจ ด้วย “รู้ใจตนเอง”มาตั้งแต่เริ่มเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ แล้ว ว่าถนนสาย “คฤหัสถ์” นี้มิใช่เส้นทางของตน วิถีแห่ง “บรรพชิต” ต่างหากเล่าคือเส้นทางที่เด็กหนุ่มปรารถนาอย่างแท้จริง

แต่ด้วยขณะนั้นมารดาไม่ยินยอมให้กระทำตามต้องการ ทำให้ “สุชาติ” ฝืนใจศึกษาเล่าเรียนในศาสตร์ทางโลกต่อเพื่อถนอมน้ำใจของผู้เป็นมารดา แต่ที่สุดแล้วขณะกำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ “สุชาติ อุ่นต๊ะก็ตัดสินใจฝืนคำมารดา กราบขออนุญาตนางจำนงค์ขอสละชีวิตทางโลก และเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

การศึกษาทางธรรม (ก่อนเข้าสู่เพศบรรพชิต) ของ ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต

อาจด้วยบุพกรรมหรือบุญสืบสร้างมาแต่ปางบรรพ์ทำให้นอกจาก “เด็กชายเก่ง” จะมีอุปนิสัยที่อ่อนน้อมและเปี่ยมเมตตาแล้ว หลายต่อหลายครั้งเด็กชายเก่งยังได้แสดงออกถึง น้ำเนื้อในจิตอันดีงาม ตลอดจนความเป็นผู้มีจิตใจฝักในในทางธรรมะและการบุญกุศล เช่น เมื่ออายุประมาณ ๗-๘ ขวบ “เด็กชายเก่ง” ได้เห็นปลาติดอยู่ในอุปกรณ์ดักปลาของชาวบ้าน ก็เกิดความสงสาร จึงคิดจะปล่อยปลาคืนสู่แหล่งน้ำเป็นเหตุให้พลัดตกน้ำ โชคดีที่พี่ชายมาเห็นเหตุการณ์จึงเข้าช่วยเหลือได้ทัน และยังมีหลายต่อหลายครั้งที่นายสุขผู้เป็นพ่อตื่นขึ้นมาในตอนเช้า พบว่ากบที่ไปจับมาได้และขังเอาไว้สำหรับทำกับข้าวได้ถูกปล่อยไปจนหมด…ด้วยฝีมือของลูกชายคนเล็ก!

นอกจากนี้ เมื่อมีโอกาสได้เล่นตามประสาเด็ก เด็กชายเก่งยังชอบนำดินเหนียวมาปั้นเป็นพระพุทธรูป แล้วนำไปวางไว้ตามกำแพงหรือใต้โคนไม้ จนถูกเพื่อนๆ ล้อว่า ‘อยากเป็นตุ๊เจ้าหรือ?’ ซึ่งเด็กชายเก่งก็มิได้กล่าวปฏิเสธ และยังไม่เคยโกรธเคืองเลยเมื่อถูกเพื่อนๆ ล้อเช่นนี้!

เด็กชายเก่งเริ่มเข้าวัด ตั้งแต่อายุได้เพียง 8-10 ขวบจากการติดตาม “พ่ออุ้ยอิ่น” ผู้เป็นปู่ ในการนำ “ขันดอก” คือดอกไม้ธูปเทียน ตลอดจนข้าวปลาอาหารไปถวายพระที่วัดและนับเป็นเด็กคนเดียวในหมู่บ้านที่รอบรู้ชำนาญใน “การวัด” ตั้งแต่ยังเด็ก และสามารถสวดมนต์ไหว้พระได้อย่างชำชองตั้งแต่อายุเพียง 12 ปี

ยิ่งเมื่อได้มีโอกาสบวชสามเณรในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน ขณะศึกษาในระดับชั้น ม.1 จิตใจของ “สามเณรเก่ง” ก็ยิ่งน้อมนำเข้าสู่หนทางแห่งบรรพชิตที่ลึกล้ำยิ่งขึ้นจนไม่อยากจะสึกจากความเป็นสามณรแม้แต่น้อย! “ แม่…ผมจะไม่สึกแล้ว ผมจะบวชต่อ ”

คำขอนี้ทำให้นางจำนงค์นิ่งอึ้ง ด้วยก่อนหน้านี้ “นิเวศน์”ลูกชายคนโตของนางขาพิการจน ต้องเดินกะเผลกมาตั้งแต่ยังเล็ก ส่วน “นิรันดร์” ลูกชายคนรองก็แต่งงานออกเรือนไปอยู่กับภรรยาที่จังหวัดลำปาง ความหวังของนางจำนงค์ที่อยากเห็นลูกได้รับราชการเป็น “เจ้าคนนายคน” ให้พ่อแม่และครอบครัวได้พึ่งพิงจึงตกอยู่กับลูกชายคนนี้ ดังนั้นความคิดที่จะให้ลูกชายคนเล็กอยู่ในผ้าเหลืองตลอดชีวิต จึงเป็นสิ่งที่นางจำนงค์มิได้ต้องการเลย!

” เอาไว้ให้ลูกจบ ม.3 ก่อน ถ้ามีบุญผ้าเหลืองมาก่อนก็คงจะได้บวชเองแหละ ” คำปฏิเสธอย่างนุ่มนวลของมารดาทำให้ “สามเณรเก่ง” จำต้องลาสึกด้วยความผิดหวัง และด้วยรับรู้และห่วงใยในความรู้สึกของผู้เป็นแเม่ ที่คาดหวังจะให้ตนเป็นเสาหลักดูแลครอบครัวต่อไปในอนาคต ทำให้ “เด็กชายเก่ง” สู้เก็บงำความรู้สึกส่วนตนไว้และกลับไปตั้งอกตั้งใจเรียนหนังสือต่อโดยไม่เอ่ยปากขอบวชกับผู้เป็นมารดาอีก

ในช่วงรอยต่อระหว่าง ป.๖ และ ม.๑ นั้น”เด็กชายเก่ง” มักติดตามพี่ชายซึ่งเป็นขโยมวัด(เด็กวัด) ไปที่วัดชัยชนะ จังหวัดลำพูน อยู่เสมอซึ่งที่วัดชัยชนะแห่งนี้เอง “เด็กชายเก่ง” ได้มีโอกาสกราบ “ครู” คนสำคัญ และเป็นครูทางธรรมท่านแรกของเขา นั่นคือ “ครูบาจันทร์ติ๊บ ญาณวิลาโส” เจ้าอาวาสวัดชัยชนะในขณะนั้น และครูบาจันทร์ติ๊บผู้นี้นับว่ามีส่วนสำคัญที่คอยอบรมสั่งสอน และปลูกฝังให้ “เด็กชายเก่ง” มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้ามาตั้งแต่ยังเยาว์วัย

ด้วยเหตุนี้ ขณะที่ตั้งใจเล่าเรียนศาสตร์ทางโลกอยู่นั้น “เด็กชายเก่ง” ก็ฝักใฝ่ศึกษาศาสตร์ทางธรรมไปพร้อมกันด้วยความกระตือรือร้น

สู่ร่มกาสาวพัสตร์ ของ ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต

“ เด็กผู้นี้มีวาสนาทางธรรมสูงยิ่งนัก ต่อแต่นี้ไปเราขอตั้งชื่อเด็กชายผู้นี้ว่า

‘อริยชาติ’ อันหมายถึง ผู้มีชาติภพอันเป็นอริยะ ”

“ครูบาจันทร์ติ๊บ ญาณวิลาโส” เจ้าอาวาสวัดชัยชนะ จัวหวัดลำพูน

ครูบาจันทร์ติ๊บ เป็นพระสงฆ์ผู้เรื่องวิทยาคุณอย่างยิ่งผู้หนึ่งในเขตอำเภอประตูป่าและอำเภอใกล้เคียงในยุคนั้น ท่านไม่เพียงปลูกฝังสั่งสอนศีลธรรมจรรยาต่างๆ ให้แก่ชาวบ้านทั่วไปเท่านั้นแต่ยังเมตตาถ่ายทอดความรู้เรื่องอักขระพื้นเมืองหรือที่เรียกว่า “ตั๋วเมือง” ให้บรรดาลูกศิษย์ตัวน้อยที่มาศึกษาเล่าเรียนกับท่านอีกด้วย

ซึ่งในบรรดาเด็กๆ ที่มาเรียนกับครูบาจันทร์ติ๊บ ผู้ที่ทำให้ครูบาผู้เฒ่าเกิดความอัศจรรย์ใจแกมปีติยินดีอย่างยิ่งก็คือ “เด็กชายเก่ง” เพราะเด็กชายผู้นี้ไม่เพียงมีสติปัญญาอันเลิศเท่านั้น แต่ยังมีลักษณะที่ครูบาท่านมองออกชัดเจนว่าเป็นผู้มีวาสนาในทางธรรมอย่างหาได้ยากยิ่ง

ที่สำคัญ เด็กชายวัย 12 ปีผู้นี้ สามารถอ่านและเขียน “ตั๋วเมือง” ที่แม้แต่ผู้ใหญ่ก็ยังทำความเข้าใจยากนักหนาได้ภายในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน! ดังนั้น ครูบาจันทร์ติ๊บจึงทุ่มเทกายใจ ถ่ายทอดศาสตร์วิชาทั้งปวงที่ท่านร่ำเรียนมา ทั้งวิชาอักษรล้านนา คาถาอาคม และวิทยาคุณต่างๆ ให้ลูกศิษย์ผู้นี้จนหมดสิ้น และเด็กชายเก่งผู้เป็นศิษย์ก็มิได้ทำให้อาจารย์ผิดหวังแม้แต่น้อย โดยได้ศึกษาเรียนรู้วิชาต่างๆ จากอาจารย์อย่างตั้งอกตั้งใจจนกระทั่งสามารถเข้าใจในศาสตร์วิชาต่างๆได้อย่างรวดเร็ว และสามารถลงอักขระเลขยันต์ต่างๆ ได้อย่างชำนิชำนาญ จนกระทั่งครูบาจันทร์ติ๊บซึ่งชราภาพมากในขณะนั้นไว้วางใจให้ “ศิษย์เอก” ผู้นี้ทำหน้าที่ลงอักขระเลขยันต์ในวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังต่างๆ แทนท่านมาโดยตลอด

ซึ่งไม่เพียงเด็กชายเก่งจะสามารถทำหน้าที่แทนครูบาผู้เป็นอาจารย์ได้อย่างเชี่ยวชาญ โดยไม่ขาดตกบกพร่องเท่านั้น แต่ยังปรากฎเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้คนมากมายที่มาขอเช่าบูชาเครื่องรางต่างๆ ว่าวัตถุมงคล อาทิ ตะกรุด และเครื่องรางต่างๆ ที่ลงอักขระเลขยันต์โดยเด็กชายเก่งนั้น เปี่ยมด้วยพุทธคุณอันเข้มขลัง ไม่แพ้วัตถุมงคลที่ครูบาผู้เป็นอาจารย์ทำขึ้น!

ตั้งแต่เริ่มเข้าศึกษาในระดับชั้น ม.1 เป็นต้นมา หลายต่อหลายครั้งที่ “เด็กชายเก่งเพียรอ้อนวอนนางจำนงค์ผู้เป็นมารดา ขออนุญาตบรรพชาเป็นสามเณร ซึ่งนางจำนงค์เองรู้ดีว่าการเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ของลูกชายคนเล็กนั้นหมายถึงการบวชตลอดชีวิต ดังนั้นนางจึงปฏิเสธทันที!

และนับจากนั้น ไม่ว่าผู้เป็นลูกชายจะเพียรอ้อนวอนขอร้องสักกี่หน ก็ล้วนถูกนางปฏิเสธทุกครั้งไป จนบางครั้งด้วยความโกรธลูกชายที่ไม่ได้ดั่งใจ ก็ทำให้ผู้เป็นมารดาถึงกับตัดบทด้วยการเดินหนีเอาดื้อๆ!

ในปีที่บุตรคนเล็กของนางจำนงค์อายุ 17 ปี และกำลังศึกษาอยู่ในชั้น ม.5 นั้นเอง “ครูบาจันทร์ติ๊บ” ผู้เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านก็มรณภาพลง และในงานปลงศพของครูบาจันทร์ตี้บนี้เอง “สุชาติ” หรือ “เก่ง” หนึ่งในผู้ที่ร่วม “บวชหน้าไฟ” ก็มีโอกาสได้กราบ “ครูบาเจ้าเทือง” ผู้เป็นครูบาอาจารย์อีกท่านหนึ่งซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านในแถบนั้น

ครูบาเจ้าเทือง นาถสีโล หรือ พระครูไพศาลพัฒนโกวิท เจ้าอาวาสวัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ นับเป็นพระนักวิปัสสนาผู้มีปฏิปทาเป็นที่เคารพเลื่อมใสของญาติโยมมากมาย ทั้งยังเป็นพระนักพัฒนาผู้มีส่วนสำคัญในการก่อสร้างศาสนสถานและศาสนวัตถุเพื่อธำรงพระพุทธศาสนาอย่างมากมายในหลายๆ วัดในเขตภาคเหนือ และครูบาท่านนี้ก็ทำให้ความรู้สึกอยากจะบวชพุ่งขึ้นอย่างแรงกล้าในใจของ “เก่ง” อีกครั้ง

คราวนี้เด็กหนุ่มไม่ให้โอกาสผู้เป็นมารดาได้ปฏิเสธเลย เขายืนยันจะไปแจ้งขอลาออกกับทางโรงเรียนเพื่อมาบวชให้ได้ แม้นางจำนงค์จะอ้อนวอนและต่อรองถึงกับบอกว่าหากไม่บวชนางจะซื้อจักรยานยนต์คันใหม่ให้ แต่ที่สุดก็ไม่อาจเปลี่ยนความตั้งใจแน่วแน่ของบุตรชายได้

ดังนั้น เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2541 สุชาติ อุ่นต๊ะ หรือ เก่ง ขณะอายุ 17 ปี จึงได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณรในบวรพุทธศาสนา ณ วัดชัยมงคล (วัดวังมุย) ตำบลประตูป่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน โดยมีประครูภัทรปัญญาธร วัดศรีสุพรรณ จังหวัดลำพูนเป็นพระอุปัชฌาย์

ภายหลังจากบรรพชาแล้ว “สามเณรเก่ง” จึงมีชื่อที่เรียกขานอีกชื่อหนึ่งควบคู่กันไปกับชื่อเดิมด้วย นั่นคือ “สามเณร อริยชาติ อุ่นต๊ะ” อันเป็นชื่อที่ครูบาจันทร์ติ๊บตั้งให้มาก่อนหน้านี้นั้นเอง

2 ปี 23 พรรษา มรรคาแห่งเพศบรรพชิต ของ ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต

2541 วิถีบรรพชิตปีแรก ... สามเณรหนุ่ม

            เมื่อแรกที่ “สามเณรอริยชาติ” ได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ และสัมผัสกับวิถีของนักบวชนั้น ในใจของท่านเปี่ยมล้นด้วยความปลื้มปีติจนไม่อาจบรรยายได้ และท่านได้ตั้งปณิธานแน่วแน่ว่าจะถือวัตรแห่งบรรพชิตโดยเคร่งครัด และจะตั้งใจปฏิบัติบำเพ็ญเพียรอย่างอดทนให้ถึงที่สุด

นอกจากปฏิบัติธรรมและศึกษาพระธรรมวินัยตามวิถีแห่งบรรพชิตแล้ว สามเณรอริยชาติยังสนใจศึกษาเรื่องวิทยาคุณและคาถาอาคมอีกด้วย โดยในช่วงนั้น หากได้ทราบว่ามีครูบาอาจารย์ผู้เข้มขลังอยู่ที่ใด ท่านเป็นอันต้องเดินทางไปกราบฝากตัวเป็นศิษย์ขอเล่าเรียนวิชาทันที

อนึ่ง วัดชัยมงคลแห่งนี้ เป็นวัดที่ ครูบาชุ่มโพธิโก ผู้เป็นอาจารย์ของ ครูบาจันทร์ติ๊บ เคยเป็นเจ้าอาวาสและจำพรรษาอยู่ โดยท่านได้มรณภาพไปเมื่อ พ.ศ. 2519 ก่อนที่สามเณรอริยชาติจะถือกำเนิดประมาณ 5 ปี แต่ “ตำราปั๊บสา” ซึ่งเป็นบันทึกการเข้านิโรธสมาบัติของท่าน ตามแนวทางครูบาอาจารย์รุ่นเก่าก่อนอย่าง “ครูบาศรีวิชัย” ก็ถือเป็น “มรดกธรรม” อันทรงคุณค่าอย่างยิ่งโดยเฉพาะสำหรับศิษย์รุ่นหลังอย่างสามเณรอริยชาติ

วิธีการเข้านิโรธกรรม หรือนิโรธ ตามแนวทางที่ครูบาอาจารย์ปฏิบัติสืบต่อกันมา คือผู้เข้านิโรธจะต้องนั่งภาวนาในท่าเดียวตลอด 7 วัน 7 คืน หรือ 9 วัน 9 คืน ตามแต่จะอธิษฐานโดยไม่ฉันอาหารใดๆ นอกจากน้ำเปล่าเพียงบาตรเดียวเท่านั้น ไม่ถ่ายหนัก ไม่ถ่ายเบา และปิดวาจาตลอดการเข้านิโรธ หรือกล่าวโดยสรุปคือ เป็นการดับสัญญาความจำได้หมายรู้ในอารมณ์อันเกิดจากประสาทสัมผัสทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งนั่นเอง

ซึ่งการได้พบและศึกษา “ตำราปั๊บสา” ของครูบาชุ่ม โพธิโก ทำให้สามเณรอริยชาติเกิดความเลื่อมใสศรัทธาอย่างยิ่ง จนได้ตั้งสัจอธิษฐานไว้ว่า…ในชาตินี้จะขอกระทำนิโรธกรรมให้ครบ 9 ครั้งให้จงได้!

2542 วิถีบรรพชิตปีที่ 2 ธุดงค์และ “นิโรธกรรมครั้งแรก”

สามเณรหนุ่มเริ่มออกธุดงค์เท้าเปล่าโดยตั้งต้นจากวัดวังมุย สู่เขตจังหวัดพิษณุโลกเรื่อยไปยังเมืองแพร่ น่าน โดยอาศัยร่มไม้บ้าง ป่าช้าบ้าง เป็นที่ปักกลดค้างคืน การออกธุดงค์โดยลำพังในครั้งนั้นสามเณรอริยชาติได้ปฏิบัติตามวิถีทางของพระธุดงค์สมัยโบราณอย่างเคร่งครัด เช่น อาศัยนอนตามป่าช้าเป็นวัตร ฉันเพียงมื้อเดียว และถึงขนาดทดสอบจิตของตนโดยได้เข้านิโรธกรรมอยู่แต่เพียงผู้เดียว กระทำทุกรอริยาอดอาหาร ฉันแต่น้ำอยู่นานถึง 12 วันทั้งนี้โดยมีจุดประสงค์เพื่อพิจารณสภาวะจิตของตนโดยใช้สติเป็นเครื่องนำทาง และยังเป็นไปเพื่อมุ่งเอาชนะกิเลสมารและอำนาจฝ่ายต่ำของตนนั้นเอง

            เมื่อใดในใจบังเกิดความหวาดหวั่นต่อความสงัดวังเวงของป่าช้า เมื่อใดที่อวัยวะ ในร่างกายอุทธรณ์ขออาหารจนได้รับความเจ็บปวดทรมานสังขาร สามเณรอริยชาติจะใช้ความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวเอาชนะอารมณ์นั้น และอธิษฐานจิตว่า “หากชีวิตนี้สิ้นลงก็ขอสิ่งในธงชัยของพระพุทธเจ้า” และหัวใจที่เข้มแข็งเด็ดเดี่ยวนี้เอง ที่ทำให้สามเณรหนุ่มสามารถเอาชนะความทุกข์ที่เกิดกับร่างกาย และเอาชนะกิเลสมารอันเป็นอุปสรรคต่อการบำเพ็ญเพียรได้โดยราบคาบ

            นอกจากนี้ระหว่างการธุดงค์ครั้งแรกของสามเณรอริชชาติ ท่านยังได้รับคำสั่งสอน คำชี้แนะในหลายแง่มุมจากครูบาอาจารย์หลายท่านที่พานพบระหว่างเส้นทางการเดินทาง ทั้งต้องข้ามผ่าน “อุบายธรรม” และ “การทดสอบจิต” จากคณะครูบาอาจารย์หลายต่อหลายครั้ง ซึ่งนับเป็นประสบการณ์ทางธรรมอันล้ำค่าอย่างยิ่ง ในชีวิตของท่าน

ในระหว่างธุดงค์อยู่ที่จังหวัดน่าน สามเณรอริยชาติได้พบกับบุคคลสำคัญ 2 ท่านคือ “แม่หลวงแก้ว” และ “แม่หลวงตอง” ผู้ซึ่งในอดีตเคยเป็นคนใกล้ชิดกับเจ้าเมืองน่าน และทั้งสองท่านยังเคยมาช่วย “ครูบาวิชัย” สร้างทางขึ้นดอยสุเทพ เมื่อ พ.ศ. 2477 อีกด้วย ซึ่งเมื่อแม่หลวงทั้งสองท่านได้พบกับสามเณรหนุ่มผู้ธุดงค์ผ่านมาท่านก็ทักขึ้นว่า “เณรเป็นผู้มีบุญนะ ท่านมีลักษณะที่คล้าย ครูบาศรีวิชัย ต่อไปขอให้รักษาตัวให้ดี เพราะจะเจริญรุ่งเรืองในทางศาสนา”

2543 พรรษาที่ 1 รักษาการเจ้าอาวาสวัดวังมุย กับสมญา “ครูบาน้อย”

หลังจากการเข้านิโรธกรรมครั้งแรกผ่านไป สามเณรอริยชาติยังคงจำพรรษาอยู่ที่จังหวัดน่านต่อไป หลังจากนั้นท่านก็ได้เข้านิโรธกรรมอีกเป็นครั้งที่สองที่พระบาทผาม่าน จังหวัดน่าน ครั้งนั้นท่านเข้าสู่นิโรธกรรมเป็นเวลา 3 วัน หลังจากนั้น สามเณรอริยชาติได้รับแจ้งข่าวจากทางบ้านว่าโยมแม่ล้มป่วยหนัก ให้รีบกลับบ้านด่วน สามเณรหนุ่มจึงต้องรีบเดินทางกลับบ้านเกิดที่บ้านปิงน้อยด้วยความร้อนใจ โดยนับเวลาที่ออก ธุดงค์ครั้งแรกได้  8 เดือน แต่ครั้นกลับถึงบ้าน ก็ได้ทราบว่า “โรค” ที่โยมแม่ประสบอยู่ในขณะนั้น คือ “โรคห่วงใย” และ “โรคคิดถึง” สามเณรผู้เป็นลูกอีกทั้งโยมแม่ยังเกรงว่าหากสามเณรอริยชาติยังคงธุดงค์ต่อไปเรื่อยๆ เช่นนี้ จะทำให้ไม่ได้เรียนหนังสือต่อ ดังนั้น สามเณรอริยชาติจึงกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดชัยมงคล หรือ วัดวังมุย เช่นเดิม และระหว่างนี้เอง ครูบาบุญสม สิริวัชโย เจ้าอาวาสวัดชัยมงคลได้มรณภาพลง สามเณรอริยชาติซึ่งขณะนั้นอายุเพียง 18 ปีเศษ จึงต้องรับหน้าที่รักษาการเจ้าอาวาสและดูแลวัดชัยมงคลต่อเป็นการชั่วคราว

2544 พรรษาที่ 2 อุปสมบทในฉายา “พระอริยชาติ อริยจิตฺโต”

เมื่อสามเณรอริยชาติมีอายุครบ 20 ปี บริบูรณ์ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2544 เวลา 10.25 น. ที่วัดชัยมงคล (วัดวังมุย) จังหวัดลำพูน โดยมีพระครูวิสิฐปัญญากร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูภัทรกิตติคุณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูไพศาล ธรรมานุสิฐ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ทั้งนี้ ท่านได้รับฉายาว่า พระอริยชาติ อริยจิตฺโตในช่วงที่กลับมาอยู่วัดวังมุยนี้ ครูบาอริยชาติได้เริ่มการศึกษานอกระบบต่อเนื่องจากเมื่อยังเป็นฆราวาส และใช้เวลา 2 ปีหลังนั้นศึกษาต่อจนจบ ม.6 และสอบได้เปรียญธรรมประโยค 1 ประโยค 2 และนักธรรมโทในที่สุด

2545 พรรษาที่ 3 นิโรธกรรมครั้งที่ 3 เริ่มบูรณะวัดพระธาตุดงสีมา

หลังจากครูบาอริยชาติจำพรรษาอยู่ที่จังหวัดลำพูนได้ 2 ปี เศษ มีความรุดหน้าด้านการศึกษาทั้งปริยัติและปฏิบัติ รวมทั้งศาสตร์ด้านคาถาอาคมก็มีความเข้มขลังแตกฉานยิ่งขึ้น ทำให้เป็นที่เคารพศรัทธาของญาติโยมอย่างสูงทั้งในแถบจังหวัดลำพูนและครอบคลุมไปทั่วภาคเหนือ

ในปีนี้ครูบาอริยชาติจึงได้บำเพ็ญบารมีครั้งใหญ่อีกครั้ง คือ การเข้านิโรธกรรมเป็นครั้งที่ 3 ที่วัดร้างบ้านวังมุย ตำบลประตูป่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน (วัดร้างบ้านวังมุยแห่งนี้ เป็นสถานที่ที่ครูบาชุ่ม โพธิโก เคยเข้านิโรธกรรมมาก่อน) โดยกำหนดเวลาไว้ 9 วัน 9 คืน ซึ่งภายหลังจากท่านออกจากนิโรธกรรมเมื่อวันที่ 9 มกราคม ทางวัดวังมุยก็ได้จัดงานฉลองครั้งใหญ่ มีพิธีพุทธาภิเษกและเททองหล่อ “พระกริ่งไจยะมงคล” รุ่นแรก ท่ามกลางความปลาบปลื้มยินดีอย่างยิ่งของชาวบ้านที่มารอรับ “ครูบาน้อย” ออกจากนิโรธกรรม

ราวกลาง พ.ศ. 2545 ขณะครูบาอริยชาติอายุได้ 21 ปี คณะศรัทธาชาวบ้านซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่วัดพระธาตุดงสีมา ตำบลแม่พริก อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ได้มากราบอาราธนานิมนต์ ครูบาอริยชาติให้ไปช่วยบูรณะวัดพระธาตุดงสีมา ซึ่งอยู่ในสภาพวัดร้าง ไม่มีพระจำพรรษามาเนิ่นนาน อีกทั้งยังมีงานก่อสร้างอุโบสถและวิหารซึ่งได้วางรากฐานไว้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้นานแล้ว แต่ไม่สามารถจะดำเนินการต่อได้เนื่องจากยังขาดปัจจัยอีกเป็นจำนวนมาก

เมื่อครูบาอริยชาติพิจารณาเห็นถึงความจำเป็นดังกล่าว ท่านจึงรับนิมนต์จากญาติโยมและเข้ามาจำพรรษาที่วัดพระธาตุดงสีมา เพื่อสนองศรัทธาญาติโยมนับตั้งแต่กลาง พ.ศ. 2545 เป็นต้นมาและอุทิศตนพัฒนาจนกระทั่งองค์พระธาตุดงสีมาที่ทรุดโทรมเก่าแก่ กลายเป็นพระธาตุหุ้มทองคำเหลืองอร่าม ภายในเวลาเพียง 1 เดือน !

2546 พรรษาที่ 4 สร้างพระธาตุทันใจ

หลังจากเสร็จงานบูรณะองค์พระธาตุแล้ว ครูบาอริยชาติก็เริ่มงานก่อสร้างอื่นๆ ทันที ทั้งกำแพง

วัด หอระฆัง บูรณะองค์พระธาตุดงสีมารวมถึงสร้างพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ที่หน้าองค์พระธาตุ ซึ่งแล้วเสร็จภายในช่วงเวลาไม่ห่างกันมากนัก ด้วยชื่อเสียงด้านปฏิปทา วิทยาคม และความเมตตาของครูบาอริยชาติซึ่งเป็นที่ประจักษ์ และร่ำลือกันอย่างกว้างขวาง ทำให้มีผู้คนจากทั่วสารทิศหลั่งไหลมากราบนมัสการครูบาหนุ่มแห่งวัดพระธาตุดงสีมาอย่างเนืองแน่นไม่เว้นแต่ละวัน โดยผู้คนจำนวนมากต่างมีความปรารถนาที่จะสร้างกุศลร่วมกับครูบาอริยชาติด้วยความเลื่อมใสศรัทธา ทำให้งานด้านการบูรณะและ ปฏิสังขรณ์ศาสนสถานต่างๆ ในวัดมีความเจริญรุดหน้ามาโดยลำดับ

ในช่วงนี้ พระบุญศรี ชันติวโร หลวงพ่อวัดบ้านดินดำ ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย พร้อมกรรมการวัดได้มาอาราธนา ขอให้ครูบาอริยชาติไปเป็นประธานในการก่อสร้างพระธาตุทันใจให้แก่ทางวัด โดยในตอนแรกครูบา ยังมิได้รับปากในทันที แต่ท่านได้นั่งอธิษฐานจิต ขอพรเทพเทวดาว่า

“หากข้าพเจ้ามีบุญจะได้สร้างบารมีต่อขอให้ข้าพเจ้าสามารถสร้างพระธาตุทันใจองค์นี้ได้สำเร็จ ขอให้ได้สร้างวัดใหม่ที่เจริญรุ่งเรืองไว้ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ อันเป็นการค้ำจุนพระศาสนาต่อไป และหากข้าพเจ้าเป็นผู้มีบุญสามารถปลดปล่อยผู้คนให้พ้นจากวัฏสงสารได้จริง ขอ ให้ข้าพเจ้าสามารถสร้างพระธาตุองค์นี้ได้เสร็จภายในเวลา ๑๑ วันด้วยเถิด!”

เมื่อนิมิตว่าทวยเทพเทวดาจะลงมาช่วย สร้างพระธาตุในครั้งนี้จนสำเร็จแน่นอน ครูบาอริยชาติจึงรับเป็นประธานการก่อสร้างและเริ่มอำนวยการให้เกิดการทำงานอย่างรวดเร็ว กระทั่งในที่สุด พระธาตุทันใจสูง 21เมตร ก่อตันทั้งองค์ภายในบรรจุพระเครื่อง ๔๘,๐๐๐ องค์ ก็สามารถก่อสร้างจนสำเร็จก่อนเวลาที่ตั้งอธิษฐานจิตเอาไว้เสียอีก คือใช้เวลาเพียง ๑๐ วัน!

นอกจากนี้ ครูบาอริยชาติยังได้จัดหาทุนการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่เรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนในท้องถิ่น อีกทั้งท่านยังได้สงเคราะห์แจกจ่ายผ้าห่มและเครื่องกันหนาวแก่ชาวเขา ตลอดจนนำสิ่งของต่างๆ ไปช่วยเหลือในการก่อสร้างพระวิหารที่ วัดป่าม่วง ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เพื่อเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาแก่ชนชาวเขาในแถบนั้นอีกด้วย

2547 พรรษาที่ 5 รับนิมนต์จากคณะพ่อหลวงยา ศรีทาไปสร้างวัดใหม่

ในปีนั้น ครูบาอริยชาติได้พบกับพ่อหลวงยาศรีทา และคณะศรัทธาบ้านป่าตึง ตำบลเจดีย์หลวง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ที่มากราบและ นิมนต์ให้ครูบาอริยชาติไปช่วยสร้างวัดแห่งใหม่เพื่อเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวบ้านป่าตึง และเพื่อให้ชาวบ้านสามารถมาทำบุญปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ ได้อย่างสะดวกขึ้นซึ่งในที่สุดครูบาอริยชาติก็รับนิมนต์

แม้จะรับนิมนต์จากพ่อหลวงยา ศรีทาและคณะไว้แล้ว แต่เนื่องจากงานด้านการก่อสร้างและการบูรณะศาสนสถานต่างๆ ภายในวัดพระธาตุดงสีมายังไม่เรียบร้อยดีนัก ทำให้ครูบาอริยชาติยังคงจำพรรษาอยู่ที่วัดพระธาตุดงสีมาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในปีนั้นครูบาอริยชาติและ คณะของพ่อหลวงยาก็ได้ออกสำรวจหาพื้นที่สำหรับเตรียมก่อสร้างวัดอยู่เนืองๆ แต่ไม่ว่าจะสำรวจไปถึงสถานที่ใด ในสายตาและความรู้สึกของครูบาอริยชาติแล้ว ก็ล้วนไม่ใช่ที่ที่เหมาะสมสำหรับการสร้างวัดทั้งสิ้น แต่คณะศรัทธาชาวบ้านก็ยังคงเสาะหาสถานที่อันเหมาะสมสำหรับเป็นพุทธศาสนสถานสำคัญของชุมชนต่อไปโดยมิได้ย่อท้อ

2548 พรรษาที่ 6 พุทธสถานในนิมิต

หลังจากสำรวพื้นที่สำหรับสร้างวัดอยู่นาน ในที่สุดคืนหนึ่ง ครูบาก็เกิดนิมิตรถึงสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเป็นเนินเขาล้อมรอบด้วยป่าไผ่อันร่มรื่น เมื่อครูบาอริยชาติเล่าให้พ่อหลวงยาและชาวบ้านฟังถึงนิมิตนั้น คณะชาวบ้านจึงนำครูบาอริยชาติออกสำรวจพื้นที่โดยรอบของหมู่บ้านอีกครั้ง จนกระทั่งมาถึงพื้นที่เนินดอยท้ายหมู่บ้านเรียกว่า “ดอยม่อนแสงแก้ว” ซึ่งเป็นที่สวนของชาวบ้านและมีแนวต้นไผ่ล้อมรอบคล้ายกับภาพในนิมิตของท่านไม่ผิดเพี้ยน! เห็นดังนั้น ครูบาอริยชาติ จึงตั้งจิตอธิษฐานว่า

“…หากสถานที่แห่งนี้ แม้เป็นสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์  เป็นสถานที่อันเป็นมงคลคู่บารมีของครูบา ในการที่จะได้จรรโลงพระพุทธศาสนาต่อไปแล้ว ขอให้ได้ที่ดินผืนนี้มา….”

หลังจากนั้นก็ปรากฏว่าเจ้าของที่ดินได้ถวายที่ดินจำนวนประมาณ ๑๙ ไร่เศษให้แก่ครูบาอริ-ยชาติอย่างง่ายดาย ท่ามกลางความยินดีแกมประหลาดใจของพ่อหลวงยาและคณะชาวบ้าน

ช่วงเวลานั้น งานก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุดงสีมา ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา ๓ ปีเศษ ก็สำเร็จลุล่วงจนสามารถ “วางมือ” ได้แล้ว

ภารกิจต่อไปของครูบาอริยชาติ คือการเตรียมก่อสร้างพุทธสถานแห่งใหม่ จึงได้เวลาเริ่มต้น …

2549 พรรษาที่ 7 จากดอยม่อนแสงแก้วสู่วัดแสงแก้วโพธิญาณ

จากดอยม่อนแสงแก้วสู้วัดแสงแก้วโพธิญาณเมื่อครูบาอริยชาติและคณะของพ่อหลวงยาศรีทา ได้พบพื้นที่ในการก่อสร้างวัดตามความตั้งใจแล้ว การปรับปรุงพื้นที่เพื่อก่อสร้างวัดก็เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 9  พฤษภาคม พ.ศ. 2549 และ เริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 เหนือ (แปดเป็ง) ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา

เมื่อศิษยานุศิษย์และผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาครูบาอริยชาติได้ทราบข่าวการสร้างวัด ต่างแสดงความจำนงขอร่วมสมทบปัจจัยเพื่อก่อสร้างวัดเป็นจำนวนมาก ทำให้การดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนทำพิธีวางศิลาฤกษ์เป็นไปอย่างรวดเร็ว และก่อนวางศิลาฤกษ์ 2 วัน ครูบาอริยชาติก็นิมิตประหลาดอีกครั้ง

ในนิมิตนั้นท่านได้พบ…ภูเขาที่เต็มไปด้วยดอกบัวสีขาวบานสะพรั่งอยู่ทั่วบริเวณ

จากนิมิตนี้เอง จึงเป็นที่มาของชื่อ “วัดแสงแก้วโพธิญาณ” โดย “แสงแก้ว” มาจากแสงสว่างไสวราวกับดวงแก้วที่เปล่งประกายออกจากดอกบัว และสัญลักษณ์ “ดอกบัว” ที่พบในนิมิตก็อุปมาได้กับ “พระโพธิญาณ” อันเป็นความรู้แจ้งสูงสุด หรือ “ความรู้ในการตรัสรู้” นั่นเอง (โพธิญาณ มาจากคำว่า โพธิ แปลว่า ตรัสรู้ และคำว่า ญาณ แปลว่า หยั่งรู้ คำว่า “โพธิญาณ” จึงแปลให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่า “ความรู้ในการตรัสรู้” ซึ่งก็คือ “ตรัสรู้ความรู้ในสัจธรรม”

นับจากนั้น เนินดอยม่อนแสงแก้วซึ่ง ปรากฎในนิมิตของครูบาอริยชาติ จึงกลายเป็น *วัดแสงแก้วโพธิญาณ” และครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต ก็ย้ายจากวัดพระธาตุดงสีมา มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดแห่งนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

2550 พรรษาที่ 8 เริ่มสร้างศาสนสถานและเสนาสนะภายในวัดแสงแก้วโพธิญาณ

“ครูบาคิดแต่ว่าจะสร้างศิลปะเพื่อพระพุทธศาสนา ให้พุทธศิลป์อยู่ควบคู่กับงานเผยแผ่ครูบาคิดว่าสิ่งที่อยู่ได้นานกว่าบุคคลก็คือวัตถุบุคคลอยู่ได้แค่ชั่วมีลมหายใจ แต่วัตถุนั้นถึงเราไม่อยู่แล้ว สิ่งปลูกสร้างนั้นก็จะยังอยู่ต่อไป…ครูบาทำเพื่อสร้างสติปัญญาและกำลังใจให้คนที่ยังอยู่ต่อไป”

            นับตั้งแต่วางศิลาฤกษ์การก่อสร้างวัดแสงแก้วโพธิญาณเป็นต้นมา งานก่อสร้างศาสนสถานและเสนาเสนะต่างๆ ภายในวัดแสงแก้วโพธิญาณก็ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว เริ่มตั้งแต่การก่อสร้างศาลาด้านทิศใต้ ต่อด้วยงานวางศิลาฤกษ์เพื่อเตรียมก่อสร้างพระอุโบสถและพระวิหาร และห้องน้ำสำหรับญาติโยม (ปัจจุบันรื้อและสร้างใหม่แล้ว)

2551 พรรษาที่ 9 ชีวิตนี้ … เพื่อพระพุทธศาสนา

  ” สิ่งที่ครูบาทำนี้ไม่ได้ทำเพื่อใคร ทำเพื่อสาธารณประโยชน์ ครูบาทำมาเป็น 200-300 ที่มันเยอะมาก มันเกินกว่าสิ่งที่เราคิดไว้แล้ว แต่ครูบาคิดว่า เราทำเพราะเรามีโอกาส เมื่อเรามีโอกาสทำก็ให้ทำ แต่วันหนึ่งที่เราไม่มีโอกาสทำ แต่อยากทำ วันนั้นเราจะเสียใจ เพราะฉะนั้นวันนี้เรามีโอกาสทำประโยชน์ อยากทำอะไรให้ใครก็ทำ อยากช่วยอะไรใครก็ช่วย อยากทำอะไรให้เป็นประโยชน์ ทำซะในตอนที่ยังมีโอกาสนี้โอกาสอยู่ในมือเรา “

2552 พรรษาที่ 10 นิมิตถึงครูบาศรีวิชัย

ในขณะที่งานการก่อสร้างวัดแสงแก้วโพธิญาณกำลังดำเนินไปอย่างรวดเร็วนั้น คืนวันหนึ่ง ครูบาอริยชาติได้เกิดนิมิตประหลาดอีกครั้ง…

ในนิมิตนั้น…ท่านเห็นครูบาศรีวิชัยนั่งขัดสมาธิบนดอกบัวขนาดใหญ่สีขาว มีใบหน้าที่อิ่มเอิบผ่องใสด้วยเมตตา บารมีธรรม โดยรอบดอกบัวที่ท่านนั่งอยู่นั้นมีดอกบัวขนาดเล็ก รายล้อมเป็นบริวาร และค่อยโผล่ผุดล้อมมากขึ้นนับร้อยพันจนมากมายเหลือคณานับ บัวแต่ละดอกมีสีขาวสว่างไสว เป็นประกายเจิดจ้าเรืองรองจนมองไม่เห็นพื้นดิน เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก และเมื่อครูบาอริยชาติอธิษฐานขอให้ได้เห็นและได้กราบนมัสการครูบาศรีวิชัยใกล้ๆ ก็ปรากฏว่าองค์ ครูบาศรีวิชัยได้ขยายใหญ่ขึ้นจนมีขนาดมโหฬารประมาณมิได้…

ด้วยทราบว่านิมิตนี้เกิดในขณะที่ท่านมีสติ ตั้งมั่น จึงน่าจะเป็น “นิมิตจริง” ไม่ใช่ “นิมิตหลอก”ดังนั้นครูบาอริยชาติจึงนำนิมิตอันเป็นมงคลนั้นมาพิจารณาโดยถี่ถ้วน และได้แจ้งถึง “นัย” ที่แฝงอยู่ว่า การที่มีดอกบัวอันเป็นสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาผุดขึ้นมากมายและสว่างไสว รวมทั้งการที่ครูบาศรีวิชัยเนรมิตองค์ท่านให้ไหญ่โตเหลือประมาณ น่าจะมีความหมายว่าในอนาคตภายหน้าพระพุทธศาสนาจะมารุ่งเรืองอย่างยิ่งในสถานที่ที่ท่านสร้างวัดแสงแก้วโพธิญาณแห่งนี้

ด้วยเหตุนี้ ครูบาอริยชาติจึงปรึกษากับญาติโยมและศิษยานุศิษย์ว่า หากสร้างรูปหล่อ ครูบาศรีวิชัยองค์ใหญ่ที่สุดในโลกนำมาประดิษฐานไว้ วัดแสงแก้วโพธิญาณก็จะกลายเป็นอาราม ที่มีความสำคัญอีกแห่งหนึ่งในดินแดนภาคเหนือญาติโยมพุทธศาสนิกชนที่มายังวัดแห่งนี้ ก็จะได้กราบครูบาอริยชาติผู้เป็นเจ้าอาวาส และได้นมัสการสักการะ “ตนบุญ” ผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนาไปด้วยในคราวเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของแนวคิดการจัดสร้างรูปหล่อเหมือนครูบาศรีวิชัยเนื้อโลหะขึ้น

เมื่อสรุปได้ดังนี้ ครูบาอริยชาติจึงกำหนด ให้มีพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ทั้งนี้ เพื่อแสดงออกซึ่งความเคารพและกตัญญุตาของครูบาอริยชาติที่มีต่อดรูบาบูรพาจารย์ คือ “ครูบาศรีวิชัย” ผู้ได้ชื่อว่า “ตนบุญแห่งดินแดนล้านนา” และเป็นพระสงฆ์ที่ชาวไทยล้านนาให้ความเคารพสักการะอย่างสูงสุดนั่นเอง

2553 พรรษาที่ 11 ก่อสร้างรูปหล่อครูบาศรีวิชัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เป็นอีกปีหนึ่งที่ครูบาอริยชาติเหน็ดเหนื่อยอย่างมากกับการดูแลและก่อสร้างศาสนสถานและศาสนวัตถุต่างๆ ในวัดแสงแก้วโพธิญาณโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง พ.ศ. 2553 นี้ ที่ครูบาอริยชาติมุ่งมั่นก่อสร้างรูปหล่อและอาคารที่ประดิษฐานครูบาศรีวิชัยองค์ใหญ่ให้แล้วเสร็จโดยเร็วรูปเหมือนครูบาศรีวิชัยองค์นี้ นับเป็นรูปเหมือนเนื้อโลหะครูบาศรีวิชัยองค์ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีขนาดหน้าตักกว้าง 9 เมตร สูง 12 เมตร โดยใช้งบประมาณในการหล่อองค์พระรวมทั้งการปรับปรุงตกแต่งบริเวณและจัดทำภูมิทัศน์ในวงเงิน 50 ล้านบาท

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ครูบาอริยชาติยังได้อำนวยการให้จัดสร้างรูปหล่อองค์พระ เทวรูปตลอด จนอาคารอีกหลายหลังภายในวัดแสงแก้วโพธิญาณ อาทิ รูปหล่อเหมือนครูบาศรีวิชัย ครูบาอภิชัยขาวปี ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ศาลาบูรพาจารย์ ศาลาบูรพมหากษัตริย์ พระพิมเณศพระพรหม พระสิวลี และเจ้าแม่กวนอิม องค์ใหญ่ เขาพระสุเมรุ เป็นต้น

2554 พรรษาที่ 12 ประดิษฐานรูปหล่อครูบาศรีวิชัย

ในปีนี้วัดแสงแก้วโพธิญาณ นำโดยครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต ได้จัดพิธีที่ยิ่งใหญ่และสำคัญขึ้นตั้งแต่ต้นปี คือการนำส่วนเศียรของรูปหล่อครูบาศรีวิชัยซึ่งหล่อเสร็จแล้วมาประกอบเป็นองค์ท่านให้สมบูรณ์ และนำขึ้นประดิษฐานบนฐานที่รองรับเมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2554 เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในโอกาสที่ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา

2555 พรรษาที่ 13 ร่วมจัดสร้างระฆังหลวงในวาระครบรอบ 750 ปี เมืองเชียงราย

ในช่วงปีนั้นศาสนสถานและเสนาสนะต่างๆ หลายแห่งภายในวัดแสงแก้วโพธิญาณ ที่ช่างผู้

ชำนาญงานใช้เวลาก่อสร้างอย่างวิจิตรบรรจงเริ่มแล้วเสร็จอวดความสวยงามแก่ผู้มาเยือน จนมีคำร่ำลือถึงความสวยงามของวัดแสงแก้วโพธิญาณกันทั่วไป

ใน พ.ศ. 2555 เป็นปีที่จังหวัดเชียงรายมีอายุครบรอบ 750 ปี (ตั้งแต่ที่พ่อขุนเม็งรายมหาราช ทรงสถาปนาเมืองเชียงราย เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 1805 เป็นต้นมา) ซึ่งในวาระอันเป็นมงคลนี้ พระเทพสิทธินายก เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย ได้มีดำริในการจัดสร้าง “ระฆังหลวง” ขึ้น เพื่อฉลองสมโภชเมืองเชียงราย และเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ในภัทรกัป ซึ่งในโอกาสนี้ครูบา

อริยชาติ อริยจิตฺโต พร้อมด้วยคณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย เป็นประธานในการจัดหาทุนและจัดสร้างในครั้งนี้ด้วย

ระฆังหลวงที่จัดสร้างในครั้งนี้มีชื่อว่า”ระฆังหลวง พระพุทธเจ้า < พระองค์” เป็นระฆังหลวง

ขนาดใหญ่ทรงล้านนา มีรูปพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ประดิษฐานเป็นลวดลายรอบระฆังโดยหล่อเป็นระฆังเนื้อสัมฤทธิ์ มีขนาดเส้นรอบวง 7.50 เมตร (ตรงกับจำนวนปีที่เมืองเชียงราย ครบรอบ 750 ปี) เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.59 เมตร สูง 4.20 เมตร นับเป็นระฆังหลวงเนื้อสัมฤทธิ์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งล้านนาไทยและใหญ่ที่สุดในประเทศไทยทั้งนี้ มีพิธีถวายระฆังหลวงสัมฤทธิ์ เมื่อ วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 12.00-18.00 น. ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย (หลังเก่า) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

2556 พรรษาที่ 14 นิโรธกรรมครั้งที่ 9

หลังจากได้ผ่านการเข้านิโรธกรรมมา 3 ครั้ง ในช่วง พ.ศ. 2542-2545 หลังจากนั้น

ครูบาอริยชาติได้อธิษฐานจิตเพื่อเข้านิโรธกรรมอีกหลายครั้งในสถานที่ต่างกัน ดังนี้

นิโรธกรรมครั้งที่ 4 กระทำที่วัดพระธาตุ ม่อนดอนแก้ว ตำบลแม่พริก จังหวัดเชียงราย

นิโรธกรรมครั้งที่ 5 กระทำที่ป่าชุมชน หลังวัดแสงแก้วโพธิญาณ

นิโรธกรรมครั้งที่ 6 กระทำที่ม่อนพระฤๅษี ป่าชุมชนบ้านป่าตึงงาม

นิโรธกรรมครั้งที่ 7 กระทำที่ม่อนพระสังกัจจายน์ ป่าชุมชนบ้านป่าตึงงาม

นิโรธกรรมครั้งที่ 8 ที่ม่อนพระอุปคุต ป่าชุมชนบ้านป่าตึงงาม

ครูบาอริยชาติเคยกล่าวไว้ว่า ในชีวิตของท่านจะเข้านิโรธกรรมเพียง 9 ครั้ง และได้กำหนดไว้ว่า

ในช่วงต้น พ.ศ. 2556 ซึ่งครูบาอริยชาติจะมีอายุ 32 ปี 15 พรรษา นี้ ท่านจะเข้านิโรธกรรมครั้งที่ 9 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายตามที่ท่านได้ตั้งปณิธานไว้

ด้วยเหตุนี้ ครูบาอริยชาติ จึงเข้าสู่นิโรธกรรมครั้งที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556 และออก

จากนิโรธในช่วงเช้ามืดประมาณ 04.00 น. ของวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2556 รวมเวลา 9 วัน 9 คืน

ในวันที่ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต ก้าวออกมาจากกระโจมซึ่งมุงด้วยฟางนั้น แม้ใบหน้าของท่าน

จะปรากฏร่องรอยความอิดโรยอยู่บ้างด้วยมิได้ฉันภัตตาหารใดๆ เลยนอกจากน้ำเปล่าเพียงบาตรเดียวมาตลอดระยะเวลา 9 วัน แต่ดวงตาที่ฉายแววความเมตตาเป็นเนืองนิตย์นั้น กลับแจ่มใสและเปล่งประกายแห่งความปีติ

เอิบอิ่ม อย่างที่ทุกๆ คนที่รอรับอยู่ด้านหน้ากระโจมในวันนั้นสัมผัสได้โดยถ้วนทั่ว

กล่าวกันว่า เมื่อพระอริยบุคคลผู้เข้านิโรธสมาบัติ หรือพระสงฆ์ผู้ซึ่งเข้านิโรธกรรมท่านใดได้ออกจากฌานสมาบัติแล้ว ย่อมพร้อมด้วยบารมีอันสูงส่งยิ่ง ถึงเวลานั้นหากบุคคลผู้ใดได้ใส่บาตรอาหารหรือทำบุญกับพระอริยบุคคลหรือพระสงฆ์ผู้ออกจากฌานสมาบัติหมาดๆ เช่นนี้แล้วจะได้รับอานิสงส์ใหญ่หลวง เทียบเท่าระดับจักรพรรดิสมบัติมีสวรรค์และพระนิพพานเป็นเบื้องหน้าทีเดียว

ภาพที่ครูบาหนุ่มแห่งวัดแสงแก้วโพธิญาณ ออกบิณฑบาตนำหน้าเหล่าภิกษุสามเณรจำนวนมากในรุ่งอรุณวันที่ 12 มกราคม 2556 คับคั่งด้วยเหล่าลูกศิษย์และ ศรัทธาสาธุชนจากทั่วทุกสารทิศที่มารอใส่บาตรด้วยความปลื้มปีติ จึงเป็นความงดงามและเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำยิ่ง ของเหล่าพุทธศาสนิกชนทุกผู้ที่ได้พบเห็น

                        ข่าวการเข้านิโรธกรรม ครั้งที่ 9 ของครูบาอริยชาติแพร่กระจายไปอย่างมากในหมู่ ลูกศิษย์และประชาชนทั่วไปชื่อเสียงของครูบาอริยชาติแห่งวัดแสงแก้วโพธิญาณ ก็ยิ่งโด่งดังมากขึ้นทั้งในประเทศและ ต่างประเทศ เป็นผลสืบเนื่องให้งานกฐินของวัดแสงแก้วโพธิญาณซึ่งจัดขึ้นในช่วงปลายปีนั้น คือวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2556 มีเหล่าพุทธศาสนิกชนมาร่วมบริจาคปัจจัยด้วยความศรัทธาท่วมท้นเป็นจำนวนมากเป็นประวัติการณ์รวมยอดเงินในวันงานถึง 17,186,352 บาท อีกทั้งยังมีคณะศรัทธาสาธุชนมาร่วมต่อยอดกฐินอีกอย่างต่อเนื่องจนมียอดรวมทั้งสิ้นกว่า 20 ล้านบาท!

2557 พรรษาที่ 15 ฉลองสมโภช วัดแสงแก้วโพธิญาณ 7 ปี 7 เดือน 7 วัน

ในทุกๆปีครูบาอริยชาติจะทำบุญเนื่องในวันคล้ายวันเกิดของท่าน

โดยมีเหล่าลูกศิษย์และญาติโยมมาร่วมบุญกับท่านอย่างเนืองแน่น โดยเฉพาะใน วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2557 นั้น เป็นวัน เดือน และปี ที่วัดแสงแก้วโพธิญาณก่อตั้งมาครบ 7 ปี 7 เดือน 7 วัน พอดี

ครูบาอริยชาติจึงจัดให้มีการทำบุญครั้งใหญ่เป็นการสมโภชวัดไปด้วยในคราวเดียวในปีนั้นมีการทำบุญ 7 วัน 7 คืนนิมนต์พระสงฆ์ 3000 รูป ร่วมสวดพุทธาภิเษกองค์ครูบาศรีวิชัย มีการจัดงานทำบุญปฏิบัติธรรม 7 วัน อุปสมบทหมู่มากกว่า 70 รูป บวชชี พราหมณ์อีกมากกว่า 50 คน

2558 พรรษาที่ 16 ฉลองสมโภช วัดแสงแก้วโพธิญาณ 8 ปี 8 เดือน 8 วัน

เป็นปีที่ครูบาอริยชาติ จัดงานทำบุญฉลองสมโภชวัดครั้งใหญ่เป็นปีที่สอง ทั้งมีจุดประสงค์เพื่อสร้างกุศลเนื่อง ในวันคล้ายวันเกิดปีที่ 34 ของครูบาอริยชาติ และเพื่อเป็นการทำบุญในโอกาสที่วัดแสงแก้วโพธิญาณก่อตั้งมาครบ 8 ปี 8 เดือน 8 วัน

ในปีนั้นจัดให้มีการทำบุญ 9 วัน 9 คืน นิมนต์ พระสงฆ์ 888 รูป ร่วมสวดพุทธาภิเษก องค์ครูบาศรีวิชัยมีการจัดงานทำบุญปฏิบัติธรรมและอุปสมบทหมู่มากกว่า 100 รูป และบวชชีพราหมณ์มากกว่า 100 คน

2559 พรรษาที่ 17 ฉลองสมโภช วัดแสงแก้วโพธิญาณ 9 ปี 9 เดือน 9 วัน

หลังจากผ่านงานฉลองสมโภชวัดมาแล้ว 2 ปี งานในปีที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นในช่วงต้นปี พ.ศ. 2559 คือ ฉลองสมโภชวัดแสงแก้วโพธิญาณครบ 9 ปี 9 เดือน 9 วัน และฉลองอายุครบ 35 ปี ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต นับเป็นมหากุศลและเป็นงานที่ยิ่งใหญ่กว่าทั้งสองครั้งที่ผ่านมา

            ในงานฉลองปีนั้น ครูบาอริยชาติจัดให้มีงานฉลองสมโภชทำบุญ 15 วัน 15 คืน นิมนต์พระสงฆ์ระดับเจ้าคณะจังหวัดทั้ง 9 จังหวัด พระสงฆ์ 999 รูป มาร่วมสวดพุทธาภิเษกจัดให้มีอุปสมบทพระภิกษุ 200 กว่ารูป บวชชีพราหมณ์ 150 คน นับเป็นงานยิ่งใหญ่และน่าจดจำยิ่งอีกงานหนึ่งของจังหวัดเชียงราย

2560 พรรษาที่ 18 ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต… เพื่อพระพุทธศาสนา

2561 พรรษาที่ 19 ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต… เพื่อพระพุทธศาสนา

2562 พรรษาที่ 20 ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต… เพื่อพระพุทธศาสนา

2563 พรรษาที่ 21 ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต… เพื่อพระพุทธศาสนา

2564 พรรษาที่ 22 ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต… เพื่อพระพุทธศาสนา

2565 พรรษาที่ 23 ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต… เพื่อพระพุทธศาสนา